...DUMNERNSADUAK RATCHABURI...

28 ธันวาคม 2552

........ดำเนินสะดวก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดราชบุรี เป็นอำเภอที่มีการสัญจรทางเรือไปมามากที่สุด เพราะมีคลองเล็กคลองน้อย คลองใหญ่ คลองซอย คลองลำกระโดงมากที่สุด ประชาชนโดยทั่วไปมีอาชีพเกษตรกรรม การทำสวนเป็นส่วนมาก รองลงมาคือทำนา ทำไร่ เมื่อมีพืชผลที่เก็บได้ก็จะนำไปขายในตลาดดำเนินสะดวกที่เรียกกันว่า ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เพราะประชาชนนำสิ่งของต่างๆ จากสวนมาขายกันมาก ใช้เรือบรรทุกของนำออกมาขาย ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสวนจึงผูกพันกับลำน้ำ พื้นที่ส่วนมากเป็นน้ำจืด จึงเหมาะที่จะทำเกษตรกรรมปลูกผักต่างๆ อำเภอดำเนินสะดวกไม่มีป่าไม้ ไม่มีภูเขา มีแต่ลำคลอง และคลองซอยต่างๆ ประมาณ 200 กว่าคลอง

........อำเภอดำเนินสะดวก

........ก่อนที่จะเป็นคลองดำเนินสะดวกนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2395 การคมนาคมโดยทั่วไป ใช้สัตว์เป็นพาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ล่อ และบรรทุกเกวียนและการใช้เรือ แต่ก็มีส่วนน้อยที่ใช้เรือ เพราะพื้นที่ในระยะนั้นเป็นพื้นที่นา ไร่ และป่ารกเป็นส่วนมาก ชุมชนในสมัยก่อนนี้ประมาณ 100 กว่าปี ใครต้องการสถานที่ทำกินก็จับจองได้ตามใจชอบ ตามความสามารถและกำลังของครอบครัวที่จะทำไหวและเพื่อให้ได้เป็นสิทธิของตนเองโดยสมบูรณ์ ก็ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่หอทะเบียนที่ดินในตัวจังหวัดราชบุรี เมื่อมาทำรังวัดในจำนวนเนื้อที่ที่ทำการจับจอง ก็จะได้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง เมื่อทำเป็นโฉนดที่ดินเรียบร้อยแล้ว

........คลองดำเนินสะดวก

........พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ.2409 เห็นว่าการคมนาคมที่ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรสาครมีคลองภาษีเจริญที่ทำการสัญจรไปมาได้สะดวกดี แต่ถ้ามีคลองระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรสงครามและราชบุรีก็จะสะดวกขึ้นมาก โดยอาศัยแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง เมื่อเป็นคลองได้การไปมาหาสู่โดยทางน้ำก็จะมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

ในปี พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม เมื่อครั้งยังพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระปราสาทสิทธิ์ เป็นผู้อำนวยการขุดคลองที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนเริ่มจากปากคลองบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร กับแม่น้ำแม่กลอง ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงครามการขุดคลองดำเนินสะดวก ได้เริ่มขึ้นในปลายปี พ.ศ.2409 โดยเริ่มจากแม่น้ำท่าจีน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมดูแล และใช้

...สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

....
กำลังของทหาร ข้าราชการ และประชาชนร่วมกันช่วยขุด การขุดดินนี้ใช้กำลังแรงงานของคนล้วนๆ โดยไม่ได้ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรงอื่นๆ เลย นับว่าเป็นความดำริ ความวิริยะอุตสาหะของประชาชนในสมัยนั้นมาก คลองดำเนินสะดวกมีการใช้การสัญจรทางน้ำมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาถึงกว่า 100 ปี

........พระคุณท่านหลวงพ่อพระคูรวิชัยศีลคุณ (กมล คุณสีโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม ได้เคยเล่าว่า ที่ทำการขุดคลองกันจริงๆ ส่วนมากเป็นคนจีนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ เป็นผู้รับจ้างขุด หากเป็นเดือนหงาย กลางคืนจะทำการขุดดินกันทั้งคืน คนจีนสมัยนั้นส่วนมากจะไว้ผมเปีย เมื่อทำงานตอนกลางคืนจะนุ่งเพียงผ้าเตี่ยวผืนเดียว ขุดดินใส่ปุ้งกี๋แล้วก็หาบดินหรือแบกดิน เอาไปไว้ยังนอกเขต กลางคืนอากาศดี ไม่ร้อน ทำงานได้ตลอดทั้งคืน แล้วมาพักผ่อนตอนกลางวัน

........เมื่อชาวจีน เดินทางมาจากเมืองจีนทางเรือสำเภา มีเสื่อผืนหมอนใบ เมื่อได้เห็นต้นไม้เขียวๆ ที่เมืองไทย ก็ร้องว่า “ไม่ตายแล้ว” สมัยนั้นไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีการตรวจคนเข้าเมือง มาถึงเมืองไทยแห่งใดก็อยู่ได้เลย คนจีนมีความขยันมาก อดทนและประหยัด บางคนทำงานหนัก กินแต่ข้าวต้ม เกลือ ผักต่างๆ โดยใช้ก้อนกรวดเล็กๆ ล้างให้สะอาด แล้วนำมาคลุกน้ำเกลือ ผักก็ต้มกับเกลือ บางทีก็เอาปลาเค็มมาแขวนไว้ที่วงข้าว เวลากินข้าวก็กินก้อนกรวดชุบเกลือ หรือกินข้าวต้ม ใช้ตะเกียบพุ้ยข้าวเต็มปาก แล้วคีบก้อนกรวดดูดเอาความเค็มของเกลือที่ติดก้อนกรวดนั้น เสร็จแล้วก็ล้างก้อนกรวดไว้ทำอาหารมื้อต่อไป ปลาเค็มตัวหนึ่งกินได้นาน บางทีก็เอาปลาเค็มจุ่มลงในผักต้มเกลือแล้วนำขั้นมาแขวนใหม่ ปลาเค็มตัวหนึ่งจึงกินได้หลายวัน ในบั้นปลายของชีวิตจะเห็นว่าชาวจีนส่วนใหญ่มีฐานะดี เป็นเศรษฐีกันมาก สังเกตได้จากบริษัท ห้างร้านใหญ่ๆ แม้ป้ายร้านจะชื่อไทยๆ ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นคนจีน เพราะมีความขยัน อดทน ประหยัด ยอมลำบากเสียแต่แรกมาตอนหลังจะได้รับความสบาย พลอยให้ลูก หลาน เหลนมีความสะดวกสบายไปด้วย จึงมีคำพังเพยกล่าวเป็นคติสอนใจว่า “พูดถึงผัก ผักต่างๆ นั้นกลัวเจ๊ก พูดถึงเหล็ก เหล็กต่างๆ นั้นกลังฝรั่ง พูดถึงสตางค์ สตางค์ต่างๆ นั้นกลัวคนไทย”

........คลองดำเนินสะดวกเมื่อทำการขุดแล้วเสร็จ ได้ระยะทางยาว 840 เส้น มีอาณาเขตติดต่อกัน 3 จังหวัด คือจากประตูน้ำบางยาง ถึงประตูน้ำบางนกแขวก คือ

.............1. อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

.............2. อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

.............3. อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

Slide Floating Market

........งบประมาณในการขุดคลองดำเนินสะดวก การขุดคลองดำเนินสะดวก ซึ่งใช้แรงงานของคนล้วนๆ ใช้เวลาในการขุด 2 ปีเศษ โดยเริ่มขุดคลองตั้งแต่ พ.ศ.2409 ปีขาล ใช้งบประมาณ 1,400 ชั่ง เป็นเงิน 112,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นสองพันบาท) เป็นเงินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จำนวน 400 ชั่ง ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม จำนวน 1,000 ชั่ง รวมเป็นเงิน 1,400 ชั่ง หรือ 112,000 บาท เงินในสมัยนั้นมีค่ามาก ค่าแรงของผู้ชายวันละ 1 บาท ข้าวสารถังละ 60 สตางค์ ผ้าขาวม้าผืนละ 40 สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวชามละ 3 สตางค์ การขุดคลองดำเนินสะดวกนี้ใช้เวลาขุดประมาณ 2 ปีเศษ งบประมาณที่กล่าวมานี้เข้าใจว่า ต้องมีประชาชนเอาแรงมาช่วยกันขุดคลอง และข้าราชการก็มีเงินเดือนอีกแผนกหนึ่ง อาจไม่ได้รวมอยู่ในงบประมาณนี้ เพราะคลองดำเนินสะดวกมีความยาวถึง 840 เส้น เป็นระยะทางที่ยาวมาก
........อาณาเขตของคลองดำเนินสะดวกมีถึง 3 จังหวัดคือ สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรสงคราม เป็นคลองที่มีเรือสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ขนาดกว้างของลำคลอง 6 วา ลึก 6 ศอก พอที่เรือสัญจรไปมาได้สะดวก ส่วนมากเป็นเรือใบ เรือแจวและเรือพาย เพื่อให้เร็วขึ้น เรือที่วิ่งจึงติดเครื่องยนต์ ทำให้มีคลื่นมากเมื่อมีคลื่นมาก ทำให้น้ำกัดเซาะตลิ่ง จากคลองขุดที่กว้างแต่เดิม 6 วา ก็กลายเป็น 10 วา 15 วา บางแห่งถึง 20 วา ทำให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินต้องทำเขื่อนกั้นตลิ่งไม่ให้พัง ปัจจุบันคลองมีขนาดกว้างประมาณ 15 วา (30 เมตร)
........เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการขุดคลอง เมื่อทำการขุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ทำเป็นแผนผังในการขุดคลองยาว 840 เส้น กว้าง 6 วา ลึก 1 วา 2 ศอก นำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเห็นว่าคลองที่ขุดใหม่นี้เป็นคลองที่ยาวมากและเป็นคลองที่ขุดได้ตรง ไม่คดเคี้ยว สะดวกต่อการสัญจรไปมา จึงทรงพระราชทานนามให้เป็นมงคลนี้ว่า ดำเนินสะดวก และได้ทำพิธีเปิดคลองดำเนินสะดวก พ.ศ.2411
........แต่เดิมที เมื่อสมัยทำการขุดคลองดำเนินสะดวกใหม่ๆ พระศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างศาลาที่พักคนงาน ณ บริเวณที่ปากคลอง ลัดราชบุรี ชาวจีนเรียกคลองนี้ว่า คลองลัดพี้หรือคลองลัดพี แต่นิยมเรียกกันมาจนปัจจุบันคือ คลองลัดพี ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวไทย แต่ที่เรียกคลองลัดราชบุรีนั้นถูก เพราะการเดินทางสมัยก่อนใช้เรือเป็นพื้น จะไปยังตัวเมืองราชบุรี ก็ต้องลัดไปทางคลองนี้ จึงเรียกกันว่าคลองลัดราชบุรี
........ชาวสวนดำเนินสะดวก
........ชีวิตและความเป็นอยู่ชาวสวนดำเนินสะดวก การทำมาหากินสำหรับชาวสวนปลูกพืชผักต่างๆ ได้แก่ พริกหอม กระเทียม แตงโม ผักกาดทางขาว (แปะฉ่าย) ผักกาดทางเขียว (คะน้า) ถั่วลิสง (ถั่วคุด) ถั่วแดง (ถั่วอีเตาะ) ถั่วเหลือง (ถั่วแระ) ถั่วฝักยาว (ถั่วค้าง) กะหล่ำปลี (คะน้าลุ้ย) กะหล่ำดอก (คะน้าดอก) ตั๊วใฉ่ ใช้เท้า (หัวผักกาดดอง) ผักชี บวบ คื่นฉ่าย มะเขือต่างๆ แตงกวย (แฟง) แตงกวา แตงท่อน แตงร้าน แตงไทย ฟักทอง ข้าวโพด
........รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น
........พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีเมื่อวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าหน้าวัดโชติทายการามตรงศาลาการเปรียญที่สร้างใหม่นั้นพระอธิการช่วง เจ้าอาวาสวัดโชติทายการามในสมัยนั้น ได้ทราบว่า พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมา พระอธิการช่วง จึงได้นำพระลูกวัด จำนวน 5 รูปลงมาเจริญชัยมงคลคาถา (สวดชยันโต) เป็นการต้อนรับ ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระองค์ ได้ตรัสถวายเงินเพื่อเป็นการบูรณะวัดจำนวน 10 ชั่ง (800 บาท) และถวายพระสงฆ์ที่มาเจริญชัยมงคลคาถารูปละ 1 ตำลึง (4 บาท) และโปรดเกล้าให้มหาดเล็กจัดที่ประทับแรมบนศาลาการเปรียญ ให้พนักงานเครื่องต้นประกอบพระกายาหารสำหรับเสวย ณ ที่ศาลาท่าน้ำ
ที่มา : หนังสือประวัติตลาดน้ำดำเนินสะดวก ผู้แต่ง พระครูสิริวรรณวิวัฒน์ (2536)

4

5

6

7

8

9

29 กันยายน 2552

10